วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

องค์การอนามัยโลก

องค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย โดย นายแพทย์ประกอบ ตู้จินดา
จากการระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ตั้งแต่ยุคกลางมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโรคข้ามแดน เป็นผลให้เกิดความจำเป็นในการประสานงานระหว่างประเทศเกี่ยวกับการสาธารณสุข การประชุมนานาชาติครั้งแรกได้จัดขึ้นที่กรุงปารีสในปี พ.ศ.๒๓๙๔ เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อในการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ และจากการประชุมครั้งนี้เอง ได้เป็นที่มาขององค์การถาวรซึ่งจัดขึ้นเพื่อการควบคุมโรคระหว่างประเทศในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ซึ่งต่อมาได้รวมเข้าอยู่ในเครือขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. ๒๔๙๐
องค์การระหว่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในงานสาธารณสุขของประเทศไทย โดยการให้ความช่วยเหลือทั้งในทางวิชาการ วัสดุครุภัณฑ์ และทุนการศึกษา ได้แก่ องค์การอนามัยโลก และกองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ



[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]



หัวข้อ

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization)
กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children Fund หรือ UNICEF)
สภากาชาดสากล
สภากาชาดไทย
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization)
ในการประชุมนานาชาติ เพื่อร่างกฎบัตรสหประชาชาติในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ณ เมืองซานฟรานซิสโกทุกฝ่ายมีความเห็นต้องกันว่า สหประชาชาติควรมีองค์การอนามัยระหว่างประเทศด้วย และในปีต่อมาได้มีการประชุมอนามัยโลก ณ กรุงนิวยอร์ก เพื่อร่างธรรมนูญขององค์การอนามัยโลกขึ้น ในขณะที่รอการให้สัตยาบันของประเทศต่างๆ ได้มีการตั้งคณะกรรมการชั่วคราวขึ้น ทำหน้าที่ก่อตั้งองค์การอนามัยโลกให้สอดคล้องกับธรรมนูญที่ได้ร่างไว้ เมื่อประเทศต่างๆ ให้สัตยาบันเพียงพอแล้วองค์การอนามัยโลกก็ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑
องค์การอนามัยโลกเป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญขององค์การฯ ทั้งนี้โดยมิคำนึงว่าประเทศเหล่านั้นจะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติหรือไม่ หน้าที่ขององค์การอนามัยโลกตามธรรมนูญมีดังนี้ คือ
๑. ช่วยเหลือรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในการพัฒนาและปรับปรุงบริการทางแพทย์และสาธารณสุข
๒. ส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานการสอนและการฝึกอบรมในวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุข และวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
๓. ให้ข้อมูลข่าวสาร การปรึกษาแนะนำ และความช่วยเหลือในด้านการแพทย์และสาธารณสุข
๔. ให้การส่งเสริมการพัฒนาในด้านโภชนาการการเคหะ สุขาภิบาล นันทนาการ สภาพการทำงานและในเรื่องอื่นๆ ของการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับองค์การชำนัญพิเศษอื่นๆ ของสหประชาชาติ
๕. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาชีพที่มีส่วนในการสร้างความก้าวหน้าด้านการแพทย์และสาธารณสุข
๖. ส่งเสริมอนามัยและสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ตลอดจนการดำรงชีวิตที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของบุคคลโดยทั่วไป
๗. ส่งเสริมกิจกรรมด้านสุขภาพจิต ทั้งนี้โดยเฉพาะในกลุ่มของบุคคลที่มีความบกพร่องในด้านมนุษยสัมพันธ์
๘. ส่งเสริมและดำเนินการวิจัย เพื่อการพัฒนาในด้านการแพทย์และสาธารณสุข
๙. ศึกษา และรายงานวิธีการและเทคนิคด้านบริหารและสังคมที่มีผลกระทบต่อการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยร่วมมือกับองค์การชำนัญพิเศษต่างๆ ของสหประชาชาติ

งานขององค์การอนามัยโลก ดำเนินการภายใต้นโยบายและการปกครองของสมัชชาอนามัยโลก ที่ประกอบไปด้วยผู้แทนของประเทศสมาชิก ซึ่งใน พ.ศ.๒๕๒๖ มี ๑๕๗ ประเทศ และเพื่อเป็นการกระจายการปฏิบัติงานขององค์การฯ ให้ทั่วถึงส่วนต่างๆ ของโลกสมัชชาอนามัยโลกในการประชุมสมัยที่ ๑ ได้มีมติกำหนดพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น ๖ ภูมิภาค คือ
๑. ภูมิภาคอเมริกา มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี.
๒. ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก มีสำนักงานอยู่ ณ เมืองอเล็กซานเดรีย
๓. ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงนิวเดลี
๔. ภูมิภาคแอฟริกา มีสำนักงานอยู่ ณ เมืองบราซาวิลล์
๕. ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงมะนิลา
๖. ภูมิภาคยุโรป มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

สำหรับประเทศไทย อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด ๑๑ ประเทศ คือ ประเทศบังคลาเทศ ประเทศพม่า ประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนเกาหลีประเทศสาธารณรัฐมัลดิฟส์ ประเทศมองโกเลีย ประเทศเนปาล ประเทศศรีลังกา ประเทศภูฏาน และประเทศไทย
เพื่อให้มีการร่วมมือประสานงานกับประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด องค์การอนามัยโลกยังได้ตั้งสำนักงานไว้ตามประเภทต่างๆ โดยมีผู้ประสานแผนงานขององค์การอนามัยโลกเป็นหัวหน้าของสำนักงานอีกด้วย

[กลับหัวข้อหลัก]

ตราองค์การอนามัยโลก



กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children Fund หรือ UNICEF)
โดยมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ในชั้นแรกเพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่เด็กที่ประสบภัยสงครามในทวีปยุโรปต่อมาเมื่อสภาพความเดือดร้อนในยุโรปคลี่คลายลงสมัชชาใหญ่ออกเสียงอีกครั้งหนึ่งในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ให้ต่ออายุกองทุนออกไปอีก ๓ ปี แต่ให้เปลี่ยนเป้าหมายไปสู่เด็กในประเทศที่กำลังพัฒนา และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติจึงได้เป็นหน่วยงานถาวรอยู่ในสหประชาชาติ และนิยมเรียกกันโดยย่อว่า "ยูนิเซฟ" (UNICEF)
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ได้มีมติยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเยาวชนเป็นเอกฉันท์ โดยมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ว่า เยาวชนพึงมีสิทธิได้รับการดูแลเลี้ยงดูในด้านอาหาร ที่พักอาศัย การละเล่นเพื่อความบันเทิงและการพักผ่อน การแพทย์และการอนามัย และการศึกษา เพื่อให้เจริญเติบโตขึ้นโดยเสรี มีความสมบูรณ์พร้อมเพรียงทั้งทางด้านร่างกาย สมอง ศีลธรรม และจิตใจ สมกับที่เกิดมาเป็นสมาชิกคนหนึ่ง
เนื่องจากยูนิเซฟเป็นหน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติ ประเทศสมาชิกทั้งหมดและหน่วยงานชำนัญพิเศษทั้งหลายจึงเป็นสมาชิกของยูนิเซฟด้วย นอกจากนี้องค์การเอกชนและบุคคลทั่วไปก็ได้มีส่วนสนับสนุนงานของยูนิเซฟทั้งในด้านการเงินและวัสดุครุภัณฑ์ต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก
โดยทั่วๆไป ยูนิเซฟจะมีผู้ประสานงานโครงการอยู่ในประเทศสมาชิก เพื่อดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนงานพัฒนาเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานอนามัยแม่และเด็ก โภชนาการ การส่งเสริมสุขภาพเด็กโครงการการเลี้ยงเด็กกลางวัน และบริการสวัสดิการชุมชนรวมทั้งโครงการที่มีผลทางอ้อมต่อสุขภาพอนามัยของเด็ก เช่น โครงการวางแผนครอบครัว โครงการประปาหมู่บ้าน โครงการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน เหล่านี้ เป็นต้น
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ยูนิเซฟได้รับรางวัลโนเบลในฐานะที่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการมอบรางวัลได้ประกาศว่า "ยูนิเซฟได้สร้างการเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน ทำให้เราทั่วไปต่างรู้สึกว่า แท้ที่จริงแล้วโลกก็คือครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ถ้าเราต้องการจะอยู่กันโดยสันติสุข เรา
ก็ต้องเริ่มด้วยการให้ความสนใจและเอาใจใส่แก่เด็กทุกคนในบ้าน เป็นประการแรก"

[กลับหัวข้อหลัก]

ตรากองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ



สภากาชาดสากล
ผู้ให้กำเนิดสภากาชาดสากล คือนายอังรี ดูนังต์(Henry Dunant) ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เขาเกิดเมื่อวันที่ ๘พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ ณ กรุงเจนีวา ในครอบครัวขุนนางตระกูลสูง ดูนังต์เป็นนักท่องเที่ยวเขาเดินทางไปแสวงหาโชคลาภในทวีปแอฟริกาเหนือ ๒ ครั้ง ในการเดินทางครั้งที่ ๒ เขาผ่านไปทางภาคเหนือของอิตาลีที่หมู่บ้านซอลเฟริโน (Solferino) ณ ที่นี้เองที่เขาได้เห็นการสู้รบระหว่างทหารฝรั่งเศส ซึ่งเขามาช่วยอิตาลีรบกับออสเตรีย เขาเห็นทหาร ๔๐,๐๐๐ จากจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ คน บาดเจ็บล้มตายโดยไม่มีผู้ใดช่วยเหลือ ด้วยแรงบันดาลใจครั้งนี้ เขาจึงคิดที่จะสร้างองค์การอาสาสมัครเพื่อดูแลทหารบาดเจ็บในยามสงครามขึ้น
จากความคิดของอังรี ดูนังต์ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๖ ก็ได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ" (International Committee for the Relief of Wounded Combatants) ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการปรับปรุงให้เป็นสภากาชาดสากล (International Commitee of the Red Cross) และได้เจริญเป็นปึกแผ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สัญลักษณ์ของกาชาดคือเครื่องหมายกากบาทแดงอันเป็นการให้เกียรติแก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นต้นกำเนิดกาชาด แต่เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าเครื่องหมายกากบาทมีความสำคัญทางคริสต์ศาสนาในอนุสัญญาเจนีวาจึงอนุมัติให้ประชากรมุสลิมใช้เครื่องหมายซีกวงเดือนแดงแทนกากบาทแดงทั่วโลกถือกันว่าวันที่ ๘ พฤษภาคมของทุกปีซึ่งตรงกับวันเกิดของอังรี ดูนังต์ เป็นวันที่ระลึกกาชาดสากล และจวบถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ สภากาชาดสากลมีสภาชิกรวมทั้งสิ้น ๑๒๖ ประเทศ สภากาชาดแต่ละประเทศตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้และบาดเจ็บ ทั้งในยามสงครามและยามสงบ ตลอดจนการบรรเทาสาธารณภัยโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชั้น วรรณะ ลัทธิ ศาสนา หรืออุดมคติในทางการเมืองของผู้ประสบภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังมีองค์กรซึ่งทำหน้าที่ประสานงานของสภากาชาดไปประเทศต่างๆเรียกว่า "สันนิบาตสภากาชาด" ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยนายเฮนรี พี. เดวิดสัน(Henry P.Davidson) เป็นผู้ริเริ่ม และในขณะนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


[กลับหัวข้อหลัก]

สัญลักษณ์ของกาชาด



สภากาชาดไทย

ความคิดที่จะให้มีสภากาชาดไทย เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ซึ่งเป็นปีที่เกิดกรณีพิพาทแย่งดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส อันเป็นผลให้เกิดมีการสู้รบกันขึ้น ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์หัวหน้าหญิงไทยสกุลสูงในสมัยนั้นมีความห่วงใยในทหารบาดเจ็บ จึงนำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา บรมราชเทวี ขอให้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดตั้งองค์การบรรเทาทุกข์ทหาร ในทำนองเดียวกับสภากาชาดในต่างประเทศ ซึ่งในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งองค์กรดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า "สภาอุณาโลมแดง" โดยมีเจ้านายฝ่ายในชั้นสูง และหญิงผู้มีเกียรติอาสาสมัครเข้าปฏิบัติงานในองค์กรที่จัดตั้งขึ้น มีกิจกรรมสำคัญ คือ การส่งเวชภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า และของใช้ไปบำรุงทหารในสนามรบ
กิจกรรมของสภาอุณาโลมแดงได้ซบเซาลงภายหลังกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้สิ้นสุดลง และได้กลับมาฟื้นฟูขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานที่ดินและทุนทรัพย์ก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ขึ้นอยู่กับสภากาชาดสยามที่วิวัฒนาการมาเป็นสภากาชาดไทยในปัจจุบัน คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้รับรองสภากาชาดไทย เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๓ และสันนิบาตสภากาชาดได้รับสภากาชาดไทยเข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔
สภากาชาดไทยมีตัวแทนอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ในนามของ "เหล่ากาชาดจังหวัด" ซึ่งมีหน้าที่บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยและราษฎรที่ยากจนในท้องถิ่นทุรกันดาร ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมกิจการอนุกาชาด อาสากาชาด บริการโลหิต และบริการดวงตาอีกด้วย
ในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทยและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงดำรงตำแหน่งอุปนายิกาสภากาชาดไทย

1 ความคิดเห็น: